ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

Siriraj Health science Education Excellence center

 

ประวัติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (ศศว)



โหลด Logo : 
 

ประวัติ (History)

             ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ(ศศว) (Siriraj Health science Education Excellence center : SHEE) เริ่มต้นจากโครงการพัฒนาแพทยศาสตรศึกษาและงานวิจัยการศึกษา (Medical Education Research and Development หรือ MERD) ซึ่งมีมติอนุมัติจัดตั้งโครงการจากที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะฯ ครั้งที่ 22/2555 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 โดยแต่งตั้ง รศ.ดร. นพ.เชิดศักดิ์  ไอรมณีรัตน์ เป็นผู้จัดการโครงการฯ ตามคำสั่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่ 1440/2556 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 ซึ่งโครงการจัดตั้งขึ้นกับ รศ. นพ.รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ รองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระยะแรกมีพันธกิจในการพัฒนาอาจารย์ พัฒนากระบวนการเรียนการสอน และการวิจัยทางการศึกษา มีที่ตั้งสำนักงาน/ อุปกรณ์ รวมทั้งบุคลากรของหน่วยวิจัยและพัฒนาคุณภาพการศึกษา สังกัดงานแพทยศาสตรศึกษา ฝ่ายการศึกษา ณ ตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 6

 ในปี พ.ศ. 2559 มีการเริ่มเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำหรับบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ

 ในปี พ.ศ. 2560 นี้เริ่มมีการจัดทำหลักสูตรทางไกลผสมผสาน (online)

               17 มกราคม พ.ศ. 2560 คณะฯ มีมติอนุมัติจัดตั้ง “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ” ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะฯ ครั้งที่ 1 /2560 โดยในระยะแรกให้อยู่ภายใต้โครงสร้างของฝ่ายการศึกษาและรองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญาเป็นผู้กำกับดูแล พร้อมทั้งให้หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นหลักสูตรของคณะฯ

     ลักษณะการดำเนินงานของศูนย์ฯ เป็นดำเนินงานเกี่ยวกับการเรียนการสอน ส่งเสริมสนับสนุน วิจัยและบริการวิชาการโดยการทำงานกับภาคีเครือข่ายภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ในประเด็นด้านการศึกษา วิจัยและพัฒนาการศึกษาสำหรับวิทยาศาสตรสุขภาพ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงความรู้ต่างๆ โดยร่วมมือระหว่างเครือข่ายวิชาการในระดับชาติและนานาชาติเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประสบการณ์ด้านการศึกษา วิจัยและพัฒนาการศึกษาสำหรับวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อนำไปสู่การชี้นำสังคมในฐานะของมหาวิทยาลัยชั้นนำ  ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และของมหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

 

ผลการดำเนินงานหรือผลงานบริการวิชาการ (โดยสรุป)

            1.  เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ และพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ด้านแพทยศาสตรศึกษา

            2.  พัฒนาความรู้ทางด้านแพทยศาสตรศึกษา โดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นให้กับอาจารย์แพทย์ อาจารย์ที่สอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง  

            3.  ให้ความรู้และพัฒนาทักษะด้านการทำวิจัยการศึกษา ตลอดจนการให้คำปรึกษาในการทำวิจัยการศึกษาให้แก่อาจารย์และบุคลากรภายในคณะฯ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยทางการศึกษาที่อาจารย์ บุคลากรต้องการทำ เพื่อให้ได้งานวิจัยคุณภาพดีได้รับการเผยแพร่ในวงกว้าง เช่น ในการประชุมวิชาการทางการศึกษา รวมถึงได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่

            4.  ส่งเสริมให้อาจารย์และบุคลากรในคณะฯ ได้ทำงานวิจัยการศึกษา เพื่อให้นำผลวิจัยไปปรับปรุง/ พัฒนา การจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล

            5.  การร่วมมือในด้านแพทยศาสตรศึกษาและวิชาการ กับสถาบันแพทยศาสตร์อื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ

            6.  เผยแพร่ความรู้ทางด้านแพทยศาสตรศึกษาในรูปแบบอื่นๆ เช่น DVD, e-learning, การจัดอบรมแบบ online ฯลฯ

 

ภาระงานของศูนย์ฯ

          1. พัฒนาความรู้ทางการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

                 รับผิดชอบหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นต่างๆ สำหรับแพทย์ บุคลากรทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ และนักวิชาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ รวมถึงสื่อ E-Learning สื่อ DVD การอบรม และการจัดอบรมแพทยศาสตรศึกษาผ่านระบบ Online, เปิดรายวิชาเลือกเสรี สำหรับนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 4, รายวิชา Effective clinical teaching สำหรับแพทย์ประจำบ้านปีที่ 1, SHEE online store, SHEE Journal

                 แผนระยะถัดไป - อบรมหลักสูตรระยะสั้น (นานาชาติ)

          2. วิจัยการศึกษา

                 มุ่งเน้นพัฒนาการวิจัยด้านการศึกษาสำหรับวิทยาศาสตร์สุขภาพให้ได้มาตรฐานระดับสากล และพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านการศึกษา สำหรับวิทยาศาสตร์สุขภาพให้เหมาะสมกับประเทศและภูมิภาค เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนและการพัฒนาประเทศ โดยกลุ่มอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพทำการวิจัย และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาสำหรับนักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอก (ในอนาคต) นำเสนอผลงานทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ  ตีพิมพ์และเผยแพร่ผลงานวิจัย เพื่อนำไปใช้ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ

         3. การศึกษาระดับปริญญาโท

                 รับผิดชอบหลักสูตรปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (ภาคพิเศษ) สำหรับนักศึกษาไทย  โดยมีเปิดเป็นแบบการศึกษาทางไกลผสมผสาน

                 แผนระยะถัดไป – เปิดหลักสูตรนานาชาติ

                                     – เปิดหลักสูตรปริญญาเอก