SHEE วารสารฉบับที่ 3 ปี 2024 (Full Version)
SHEE journal กลับมาแล้วจ้าาาาา
ในฉบับนี้พบกันในหัวข้อ "Effective Coaching in health science education" ที่เราจะนำเสนอเทคนิคต่างๆเกี่ยวกับการโค้ชในบริบทโรงเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพ ในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและนำไปใช้งานได้จริง ผ่านประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้
- องค์ประกอบและคำนิยามของโค้ชและการโค้ช
- เทคนิคการโค้ชความรู้และทักษะผ่านหลักการ deliberate practice
- การโค้ชผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย โดยใช้่ Strength-based coaching หรือการโค้ชจุดแข็ง
- การเข้าใจคุณลักษณะของผู้เรียนยุคใหม่ Gen-Z
- การสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Psychological safety) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการโค้ชที่มีประสิทธิภาพ
- มุมมองของนักศึกษาแพทย์ต่อการโค้ชในโรงเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพ
นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาที่น่าสนใจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นบทสัมภาษณ์จาก ศ. พญ.อรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ ผู้ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ
ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) “สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ” ประจำปี พ.ศ. 2566 รวมถึงคำศัพท์ทางการศึกษา เทคนิคการทำ Thematic analysis และการใช้ Padlet ในการเรียนการสอน
ท่านสามารถร่วมกิจกรรมกับวารสาร ดังนี้
✅Q&A ส่งคำถาม/ ข้อสงสัยทางการศึกษาวิทยาศาสตร์สขภาพ หรือแพทยศาสตร์ เพื่อสะสมคะแนนแลกรับของที่ระลึกจากศูนย์ SHEE
✅บุคลากรภายในคณะฯ สามารถเก็บชั่วโมง CPD / CME ได้ (ผ่าน SHEE online courses)
Author: SHEE
Downloads: 126
Issue3/2024-01 Executive talk
บทบาทสำคัญประการหนึ่งของครูในโรงเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพคือ การเป็นโค้ช ผู้ช่วยชี้แนะให้ผู้เรียนพัฒนาความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพให้สามารถไปทำประโยชน์เพื่อผู้ป่วยและสังคมได้ หากพิจารณาจากความต้องการของนักเรียนแล้ว นักเรียนส่วนใหญ่ต้องการให้อาจารย์ทำหน้าที่โค้ชมากกว่า การเป็นผู้สอนบรรยาย (lecturer) ผู้ออกข้อสอบ หรือผู้จัดสอบเสียอีก หากอาจารย์สามารถทำหน้าที่โค้ชได้ดี ใช้เทคนิคที่เหมาะสมในการโค้ชนักศึกษา อาจารย์จะช่วยสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ และทักษะในการทำงานที่ดีได้
Author: รศ. ดร. นพ.เชิดศักดิ์ ไอรมณีรัตน์
Downloads: 26
Issue3/2024-02 Effective coaching with deliberate practice: practical points
การที่ครูแพทย์จะเป็นโค้ชที่ดีที่สามารถดึงศักยภาพของผู้เรียนออกมาพัฒนาให้เขาเป็นแพทย์ที่เก่งและดีได้อย่างเต็มที่นั้น นอกจากครูจะต้องมีความรู้ความสามารถทางการแพทย์ในเรื่องที่จะสอนผู้เรียนแล้ว ครูยังต้องการองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคและวิธีการในการโค้ชอย่างมีประสิทธิภาพด้วย อาจารย์ในโรงเรียนแพทย์จำนวนมากให้ความสนใจกับความเป็นผู้เชี่ยวชาญในเนื้อหาวิชาการเป็นอย่างมากจนละเลยความสำคัญของเทคนิคและวิธีการโค้ช
อย่างไรก็ตามข้อมูลจากการศึกษาในโรงเรียนสอนกีฬาอาจทำให้เราต้องทบทวนแนวคิดนี้ หลายปีก่อนเคยมีการวิจัยในโรงเรียนสอนการเล่นเทนนิส แต่ในกลุ่มโค้ชที่มาสอน มีทั้งโค้ชที่เล่นเทนนิสได้เก่งและผ่านการฝึกสอนเทคนิคการโค้ชที่ดี และโค้ชอีกกลุ่มหนึ่งที่โดยพื้นฐานเป็นโค้ชสกี ซึ่งเล่นเทนนิสไม่ค่อยเป็น แต่ผ่านการฝึกสอนเทคนิคการโค้ชที่ดีมาแล้ว โรงเรียนแห่งนี้ให้โค้ชทั้งสองกลุ่มแต่งตัวเป็นนักเทนนิสเหมือนกัน หนีบไม้แรกเก็ตสำหรับตีเทนนิสไว้เหมือนกัน แล้วปล่อยให้โค้ชทั้งสองกลุ่มทำงานสอนผู้เล่นเทนนิส หลังผ่านการฝึกสอน ผู้เล่นที่รับการโค้ชจากโค้ชทั้งสองกลุ่มพัฒนาฝีมือการเล่นได้ดีพอๆกัน สิ่งนี้เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การเข้าใจเทคนิคและวิธีการในการโค้ชที่ดีมีความสำคัญยิ่ง และในบางบริบทอาจสำคัญในการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนมากกว่าการมีความเชี่ยวชาญชำนาญในเนื้อหาด้วย ในบทความนี้ผมอยากเสนอแนะเทคนิคและวิธีการในการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพในผู้เรียนที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถใช้ได้ผลดีและมีการใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายวิชาชีพ คือ แนวทางการฝึกฝนทักษะอย่างตั้งใจ หรือ deliberate practice
Author: รศ. ดร. นพ.เชิดศักดิ์ ไอรมณีรัตน์
Downloads: 14
Issue3/2024-03 Coaching the Diversity of Learners: Strength-based coaching
ก่อนอื่นคงต้องขอแสดงความยินดีกับนักกีฬาไทยที่ได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 และพาราลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีและภาคภูมิใจสำหรับคนไทยทุกคนกับความสำเร็จของนักกีฬาไทยในครั้งนี้ครับ และนอกเหนือจากความตั้งใจในการฝึกฝนและพรสวรรค์ของนักกีฬา คงไม่ปฏิเสธได้เลยว่า บุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬา นั่นคือ ผู้ฝึกสอน หรือว่าโค้ชนั่นเองครับ
โค้ช คือ ผู้ฝึกสอนทำหน้าที่ในการชี้แนะแนวทางและฝึกฝนผู้เรียนอย่างเข้มข้น จนสามารถบรรลุความสำเร็จตามที่ได้ตั้งไว้ เรียกกระบวนการฝึกฝนนี้ว่าการโค้ช ซึ่งนับเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการอาชีพอื่นๆ เช่น นักกีฬา นักดนตรี เป็นต้น ในปัจจุบันรูปแบบวิธีการเรียนรู้แบบcการโค้ชนี้ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กันมากขึ้นในการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยอาจารย์ผู้สอนเปรียบเสมือนโค้ชที่ทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำและฝึกฝนทักษะต่างๆให้แก่นักศึกษาจนพัฒนาเป็นบุคลากรในวิชาชีพนั้นๆอย่างสมบูรณ์
รูปแบบวิธีการโค้ชนั้นมีหลายวิธีสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทและความถนัดของโค้ชและผู้เรียนในบทความนี้ผมจะนำเสนอการพัฒนาผู้เรียนโดยใช้จุดแข็งหรือ Strength-based coaching ซึ่งเป็นการ โค้ชรูปแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่น่าสนใจครับ
Author: อ.นพ.วุฒิภัทร เอี่ยมมีชัย
Downloads: 18
Issue3/2024-04 World War Z - Generation Z and Challenge in medical education
ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ. 2551 ภาพยนตร์ animation เรื่องกังฟูแพนด้า ได้ถูกนำมาฉาย ในฉากที่มีการคัดเลือก นักรบมังกร คงไม่มีใครคิดว่า หมีแพนด้าต้วมเตี้ยม ติดตลก ขี้เล่น ไม่จริงจังกับชีวิตจะสามารถเป็นกังฟูได้ และอาจจะไม่มีครูกังฟูคนไหนเชื่อว่าจะสอนเขาได้
ผมเชื่อว่าวันนี้ผู้สอนมองผู้เรียน Gen-Z ก็อาจจะมีความรู้สึกคล้ายกันว่า นักศึกษาเหล่านี้จะโตไปเป็นบุคลากรทางการแพทย์ได้จริงหรือ เมื่อไม่นานนี้ผู้เขียนได้ไปเข้าร่วม workshop ของทางหน่วยงานราชการและมีการพูดถึงว่า เด็กสมัยนี้เป็นอย่างไร เกือบ 80% พูดถึงเด็กสมัยนี้โดยเฉพาะ Gen-Z น่าเป็นห่วงมาก บางท่านถึงกับให้คำนิยายามว่า ‘เหยาะแหยะ’ ‘ไม่เอาจริง’ แต่ในขณะเดียวกัน ระหว่างที่สังเกต ก็เห็นได้ถึงความเป็นห่วง ความกังวลใจ ความไม่มั่นใจว่าทักษะที่ตนเองมีจะสามารถสอนหรือให้ความช่วยเหลือเด็ก ๆ ยุคใหม่ได้หรือไม่
ผู้เขียนเชื่อว่าสิ่งที่สังเกตได้ในวันนั้นไม่ผิด คือผู้เรียนเปลี่ยนไปจากสมัยก่อน ซึ่งผู้เรียนเปลี่ยนไปเสมอ เพียงแต่เร็วหรือช้า แต่อีกส่วนหนึ่งที่สัมผัสได้คือความเป็นห่วง กังวลใจ และความไม่แน่ใจว่าจะโค้ชอย่างไร สำหรับผู้เขียนเองความกังวลเหล่านี้นั้นนับเป็นนิมิตหมายอันดีทั้งสิ้น ทุกครั้งเวลาที่เราพูดถึงเรื่องนี้ ผมอยากชวนท่านผู้อ่านทุกท่านคิดอีกที ผู้เรียนเป็นแบบใด อยู่ที่ตัวผู้เรียนเอง และอยู่ที่ผู้สอน และเด็ก generation นี้ ก็คือเด็กที่พวกเรานั่นแหละ ที่เป็นคนสอน ทุกครั้งที่เราจะมองว่าเด็กสมัยนี้แย่ลง ด้วยปัจจัยภายนอก มันก็ไม่ต่างกับการปัดความรับผิดชอบ ว่าหรือจริง ๆ แล้วเรายังไม่ใช่โค้ชที่เก่งและดีพอ
เพื่อให้เรามั่นใจว่าเราเป็นผู้สอนที่ติดอาวุธมากพอที่จะโค้ชผู้เรียน Gen-Z เรามาทำความเข้าใจบริบททางสังคม แนวคิดสำคัญที่ทำให้เราสามารถโค้ชผู้เรียน Gen-Z ได้ดีขึ้น
Author: นพ.ปุญญภัทร มาประโพธิ์
Downloads: 11
Issue3/2024-05 Relationship building: Key is psychological safety
ความท้าทายของการจัดประสบการณ์เรียนรู้ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพที่พบได้บ่อยประเด็นหนึ่งคือสถานการณ์ที่ไม่มีผู้เรียนตอบคำถามของผู้สอนระหว่างคาบเรียน ซึ่งในหลายๆ ครั้งสาเหตุไม่ได้มาจากการที่ผู้เรียนไม่มีความรู้หรือไม่มีแนวทางที่จะตอบคำถามนั้น แต่มาจากวิธีการถามของผู้สอนเองที่อาจใช้คำถามที่คลุมเครือ ถามไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียน หรือถามหลายๆ คำถามในครั้งเดียวกัน อย่างไรก็ตามในกระบวนการ coaching แม้ผู้สอนได้พัฒนาเทคนิคการใช้คำถามที่มีประสิทธิภาพแล้วก็อาจจะยังไม่มีผู้เรียนที่กล้าตอบคำถามหรือไม่กล้าซักถามประเด็นที่ตนสงสัย ยังมีปัจจัยอะไรอื่นอีกที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกไม่มีส่วนร่วมกับกระบวนการ coaching อย่างเต็มที่? ทั้งๆ ที่ใช้เทคนิคการถามที่ดีแล้ว ทำไมนักศึกษาถึงยังไม่มีส่วนร่วมในการเรียนรู้?
นอกจากการเลือกใช้คำถามที่ชัดเจนและสอดคล้องกับเนื้อหาและตัวผู้เรียนแล้ว ปัจจัยหลักที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากขึ้นนั้น คือ ความรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจ (psychological safety) เป็นการรับรู้ของแต่ละบุคคลว่ากำลังอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย (safe space) เป็นความปลอดภัยที่ผู้เรียนจะกล้าแสดงความคิดเห็นของตนเองเพราะมั่นใจเพียงพอว่าการตอบผิดหรือการแสดงความคิดเห็นของตัวเองที่แตกต่างจะไม่ถูกตัดสินถูกผิดโดยอาจารย์และเพื่อนที่เรียนด้วยกัน ดังนั้น การให้พื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้จึงเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริม psychological safety ในผู้เรียน
Author: ผศ. ดร. นพ.ยอดยิ่ง แดงประไพ
Downloads: 33
Issue3/2024-06 Message from Education Deputy Dean
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจทำให้อาจารย์หลายท่านมีความกังวลใจ โดยเฉพาะภาระงานด้านการศึกษา ผมในฐานะรองคณบดีฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญาพร้อมรับฟังและให้คำปรึกษากรณีภาระงาน โดยความร่วมมือกับภาควิชาและฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อให้อาจารย์สามารถมีภาระงานด้านการศึกษาอย่างเหมาะสมได้ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด และทำให้อาจารย์มีความสุขในการสอนนักศึกษาแพทย์เพื่อเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตศิริราชที่มีคุณภาพตามความคาดหวังของสังคมไทยในอนาคต
Author: รศ. นพ.ตรีภพ เลิศบรรณพงษ์
Downloads: 14
Issue3/2024-07 Students' voice: How does Coaching shape your medical journey?
ในบทความ Students’ voice นี้ ผู้เขียนตั้งใจนำแง่มุมของนักศึกษาแพทย์มาสรุปและนำเสนอให้แก่ผู้อ่านทุกท่าน ซึ่งในวารสาร ฉบับนี้ได้มีโอกาสรับฟังความเห็นนักศึกษาแพทย์จากต่างคณะ และหลากหลายชั้นปี จำนวน 7 คน ซึ่งทุกคนล้วนมีประสบการณ์ในการถูกโค้ชในช่วงระหว่างเรียน โดยผู้เขียนหวังว่า บทความนี้จะมีส่วนในการสร้างมุมมอง ความเข้าใจให้แก่ผู้อ่าน เพื่อที่จะเข้าใจผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้นและนำไปประยุกต์ใช้กับการโค้ชในการเรียนการสอนการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพได้อย่าง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผ่านประเด็นคำถาม ดังนี้
1.การมีโค้ชในระหว่างการเรียนแพทย์มีประโยชน์ในการเรียนแพทย์ของคุณอย่างไรบ้าง
2.คุณลักษณะของโค้ชที่นักศึกษาต้องการปรึกษาเมื่อพบเจอปัญหาระหว่างการเรียน
3.อุปสรรคที่ทำให้กระบวนการโค้ชไม่มีประสิทธิภาพในมุมมองของนักศึกษา
4.แบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับการโค้ชที่ประทับใจในระหว่างการเรียน
Author: นพ.ฌาณ จิตรนำทรัพย์
Downloads: 17
Issue3/2024-08 เชิด-ชู
กลับมาอีกครั้งกับบทความเชิดชู ในวารสารฉบับนี้ทางทีมงานได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ศ. พญ. อรุณวรรณ พฤติพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ สาขาโรคระบบหายใจเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อาจารย์มีประสบการณ์มากมายทั้งในด้านการสอน ด้านคลินิก รวมถึงงานด้านบริหารในตำแหน่งอดีตหัวหน้าหน่วยโรคระบบหายใจเด็ก อดีตหัวหน้าศูนย์โรคการนอนหลับ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และอดีตนายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2563 สำหรับในด้านการเป็นครูแพทย์ อาจารย์เป็นหนึ่งใน Role Model ของครูแพทย์ของหลายๆคน และล่าสุดอาจารย์ได้รับรางวัลอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ จากที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท) "สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ" ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งอาจารย์ได้รับมอบรางวัลเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ทางทีมงานวารสารได้มีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์เกี่ยวกับความเป็นครูแพทย์และเผยแพร่ผ่านบทความ
Author: นพ.คณิน ดาษถนิม
Downloads: 15
Issue3/2024-09 สับ สรรพ ศัพท์
การประเมินตนเองที่มีข้อมูลพื้นฐาน (Informed Self-Assessment) หมายถึง การวิเคราะห์ตัวเองในปัจจุบันหรือการเรียนรู้เพื่อระบุจุดอ่อนของตนเองเพื่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-directed learner) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญขั้นพื้นฐานของการเรียนรู้ทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะในสาขา รวมถึงความสามารถในการปรับตัวและการเรียนรู้ตลอดวิชาชีพ หากขาดทักษะด้านนี้ผู้เรียนจะไม่สามารถระบุจุดอ่อนของตนเองได้หรือประเมินทักษะตนเองสูงกว่าความเป็นจริง (overestimation) ดังนั้นผู้เรียนควรได้รับการฝึกทักษะในการประเมินตนเอง การรวบรวมและประมวลผลข้อเสนอแนะ(feedback) เพื่อประกอบกับแผนการเรียนรู้
Author: พญ.ภควรรณ ลีลาธุวานนท์
Downloads: 22
Issue3/2024-10 Educational movement: Implementing Coaching program in Thai Health Science Schools
ในวารสารฉบับนี้ผมและผู้เขียนหลายท่านได้ชักชวนให้ผู้อ่านทุกท่านเห็นความสำคัญของการทำหน้าที่โค้ชของอาจารย์ที่จะช่วยดึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวผู้เรียนให้ได้เต็มที่ วิธีการสอน วิธีการดูแลผู้เรียน วิธีการจัดหลักสูตรที่นำเสนอในวารสารนี้อาจมีลักษณะที่แตกต่างไปจากที่อาจารย์ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพในประเทศไทยอาจคุ้นชิน แต่หากเป้าหมายของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาคือการส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกคนพัฒนาเต็มศักยภาพไปทำหน้าที่พลเมืองที่ดีในสังคม ทำประโยชน์ให้มนุษยชาติได้สูงสุด อาจารย์ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพพึงต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนระบบการจัดการศึกษาให้เอื้อต่อการโค้ชอย่างมีประสิทธิภาพ ในบทความนี้ผู้เขียนขอเสนอแนะแนวทางที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพไทยสามารถใช้วางแผน กำหนดนโยบาย เพื่อส่งเสริมการโค้ชนักศึกษาให้มีประสิทธิภาพ
Author: รศ. ดร. นพ.เชิดศักดิ์ ไอรมณีรัตน์
Downloads: 15
Issue3/2024-11 SHEE sharing: Proactive Coaching in General Surgery Internship: Incorporating Well-being Practices into Resident Professional Life
ในบทความนี้ผู้เขียน ได้นำเสนอบทความวิจัยเรื่อง “Proactive Coaching in General Surgery Internship Well-being Practice into Resident Professional Life “ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of Surgical Education เล่มที่ 80 เผยแพร่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 หน้าที่ 177-184 โดยงานวิจัยนี้มุ่งเน้นการศึกษาผลกระทบของโปรแกรมการโค้ชเชิงรุกสำหรับแพทย์ประจำบ้านสาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป โดยเน้นที่การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีและการบรรลุเป้าหมายทางวิชาชีพ ทางผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้อ่านวารสารได้เห็นตัวอย่างการโค้ชที่ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการสอนความรู้หรือทักษะทางการแพทย์ แต่ยังรวมถึง การทำให้ผู้เรียนมีความสุขและบรรลุเป้าหมายในการเป็นแพทย์
Author: นพ.ธนภัทร ประกายรุ่งทอง
Downloads: 20
Issue3/2024-12 SHEE research: How to conduct Thematic analysis in health science educational research
เมื่อผู้วิจัยเชิงปริมาณเก็บข้อมูลมาเสร็จแล้วขั้นตอนต่อไปก็ คือ การวิเคราะห์ข้อมูล สำหรับการทำวิจัยเชิงคุณภาพจะไม่รอให้เก็บข้อมูลเสร็จแล้วจึงเริ่มวิเคราะห์ข้อมูล แต่จะวิเคราะห์ทันทีหลังจากเก็บข้อมูลแต่ละคนเพื่อหาจุดอิ่มตัวของข้อมูล โดยวิธีวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพมีหลายวิธีแต่มีแนวคิดคล้ายกัน คือ เลือกที่จะใช้วิธีการให้เหตุผลเชิงอุปนัย โดยผู้วิจัยอ่านข้อมูลที่ได้แล้วจัดกลุ่มข้อมูลที่คิดว่าเหมือนหรือต่างกัน จากนั้นจึงหาเหตุผลเชื่อมโยงสิ่งที่เหมือนกันเพื่อสรุปใจความสำคัญ วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพที่นิยมในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ การวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) และ การวิเคราะห์แก่นสาระ (thematic analysis) เมื่อพิจารณาในบริบทของการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพซึ่งเป็นสหวิทยาการ(สาขาความรู้ที่ผสมมากกว่า 1 ศาสตร์) ผู้เขียนเชื่อว่าการวิเคราะห์แก่นสาระน่าจะเหมาะสมกับลักษณะข้อมูลมากกว่าเพราะการวิเคราะห์เนื้อหานิยมใช้กับการวิเคราะห์เอกสาร ซึ่งจะไม่มีการตีความความหมายที่ซ่อนอยู่ แต่การวิเคราะห์แก่นสาระจะสามารถใช้วิเคราะห์ความหมายที่แฝงเป็นนัยอยู่ได้ ซึ่งเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม หรือการสังเกต จึงนำไปสู่การตั้งข้อสงสัย พิสูจน์ข้อเท็จจริงและสร้างหรือต่อยอดทฤษฎีใหม่ได้
Author: อ. ดร.เกียรติยศ กุลเดชชัยชาญ
Downloads: 39
Issue3/2024-13 Click&Go with technology: How can Padlet enhance your teaching methods?
Padlet แอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มของกระดานข่าว ใช้สำหรับแสดงความคิดเห็นแบบออนไลน์ที่สามารถรองรับผู้ใช้ได้หลายๆ คน ผู้ใช้งานสามารถแสดงความคิดเห็นทั้งในรูปแบบของข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอ และลิงก์เว็บไซต์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเก็บชิ้นงานเป็น Portfolio ก็ได้ อีกทั้งยังสามารถ Export ข้อมูลในกระดานข่าวออกมาเป็นไฟล์ รูปภาพ PDF หรือ CSV และสามารถแชร์ผ่านไปยังช่องทางต่างๆ ได้อีกด้วย ท่านสามารถสมัครใช้งานได้ทั้งแบบฟรี และแบบเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งแบบฟรีจะมีกระดานข่าวให้ใช้งาน 3 กระดานข่าว เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว มาเริ่มต้นสร้างกันเลยนะคะ
Author: ผศ. ดร.วรวรรณ วาณิชย์เจริญชัย
Downloads: 14
Issue3/2024-14 SHEE Podcast
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (SHEE) ได้จัดทำ SHEE Podcast ซึ่งรวบรวมประเด็นที่น่าสนใจในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ถ่ายทอดผ่านการพูดคุยในบรรยากาศสบาย ๆ เพื่อให้ทุกท่านสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นโดยเผยแพร่ทุกวันศุกร์ที่ 2 และ 4 ของทุกเดือนเวลา 20.00 น.
สำหรับ series ที่เผยแพร่ในปีนี้ ใครที่รักในการอ่านหนังสือแต่ด้วยตารางงานที่ไม่เป็นใจ หรือใครที่สนใจทางด้านจิตวิทยา พลาดไม่ได้ เพราะครั้งนี้เรามาด้วย concept ที่แตกต่างออกไปจากเดิม และไม่ว่าคุณจะเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ เป็นแพทย์ในโรงพยาบาลร่วมสอนที่ต้องดูแลนักศึกษาแพทย์ เป็นแพทย์ประจำบ้านหรือนักศึกษาแพทย์ก็ตาม ท่านสามารถเข้ามารับฟังและนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในบริบทเฉพาะของแต่ละคนที่เกี่ยวกับการศึกษา
Author: นพ.คณิน ดาษถนิม
Downloads: 15
Issue3/2024 - Q&A
ร่วมกิจกรรม Q&A ส่งคำถามหรือข้อสงสัยในประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพหรือแพทยศาสตรศึกษา