Page 8 - คู่มือนักศึกษา 2566
P. 8

สารจากประธานหลักสูตร


                                            การพัฒนาทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนา
                                     บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น มีชีวิตยืนยาวขึ้น และมี

                                     คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามการจะดำรงทิศทางการพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขให้
                                     อำนวยประโยชน์แก่สังคมไทยอย่างต่อเนื่องนั้น จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรการแพทย์และ
                                     สาธารณสุขจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้มีการเพิ่มขึ้นของหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพใน
                                     ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

                                            เพื่อให้การจัดการศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้
               เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ละหลักสูตรพึงหาผู้มีความรู้ ความชำนาญในศาสตร์ทางการศึกษา เข้ามาบริหารจัดการ
               หลักสูตร ด้วยความต้องการบุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์

               สุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น จึงนำมาสู่การเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพขึ้นใน
               มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 โดยมุ่งสร้างบัณฑิตที่มีความสามารถในการจัดหลักสูตร ดำเนินการสอน การวัด
               และประเมินผลการเรียนรู้ของนักศึกษาในโรงเรียนวิทยาศาสตร์สุขภาพในประเทศไทย และสามารถศึกษาเพิ่มเติมความรู้
               ด้วยตนเอง รวมถึงสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ผ่านกระบวนการวิจัยทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                      ตลอดหลายปีที่ผ่านมา หลักสูตรได้เก็บรวบรวมข้อมูล สอบถามความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์สถานการณ์
               แวดล้อมอย่างต่อเนื่อง และทำการปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นระยะๆ โดยเน้นหลัก flexibility หรือ การจัดการ
               เรียนการสอนที่ยืดหยุ่นได้ และ diversity หรือ การเรียนรู้และทำงานร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลาย หลักสูตรมี

               ผู้สนใจเข้ามาศึกษาอย่างต่อเนื่อง และได้สร้างบัณฑิตออกไปทำประโยชน์ให้แก่สังคมในหลากหลายบริบท
                      ในปี พ.ศ. 2564 กรรมการบริหารหลักสูตรได้เริ่มใช้หลักสูตรปรับปรุงใหม่ ซึ่งยังคงมีเนื้อหาหลัก (core
               content) เหมือนเดิม ที่เน้นการพัฒนาความสามารถหลักในสี่ด้าน ได้แก่ การวิจัย จิตวิทยาการเรียนรู้ การวัดและ
               ประเมินผล และ การพัฒนาหลักสูตร แต่ในหลักสูตรใหม่ได้เพิ่มเติมรายวิชาเลือกให้หลากหลาย และทันยุคสมัย พร้อมทั้ง

               มีคณาจารย์ที่มาเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่หลักสูตรหลายท่าน
                      คณาจารย์ทุกท่านที่มาร่วมสอนและดูแลนักศึกษาในหลักสูตรนี้ ทั้งอาจารย์ประจำ และ อาจารย์พิเศษ เป็นผู้มี
               ความรู้ ความสามารถสูง และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่นักศึกษาทุกท่านอย่างเต็มที่ ใน

               ขณะเดียวกันนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกเข้ามาศึกษาในหลักสูตรก็เป็นผู้ที่มีศักยภาพสูง และมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะ
               ศึกษาเล่าเรียนอย่างมากเช่นกัน ผมมีความเชื่อมั่นว่าการผสานกำลังกันของอาจารย์และนักศึกษาในหลักสูตรนี้จะนำมาซึ่ง
               สัมฤทธิผลทางการเรียนรู้ ทำให้เกิดมหาบัณฑิตที่มีความสามารถสูง สามารถไปดูแลและพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์
               สุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสร้างสรรค์ผลงานวิจัยทางการศึกษาที่มีคุณภาพ นำไปสู่การพัฒนาวงการวิชาการ

               ทางการศึกษา
                      ในโอกาสนี้ผมขอส่งความปรารถนาดีสู่นักศึกษาทุกท่าน ผมขออวยพรให้นักศึกษาทุกท่านประสบความสำเร็จใน
               การศึกษาเล่าเรียน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่านักศึกษาจะได้ใช้ช่วงเวลาที่อยู่ในหลักสูตรนี้เก็บเกี่ยวประสบการณ์อันมี

               ประโยชน์ พัฒนาตนเองอย่าง ต่อเนื่อง ให้เป็นคนเก่ง ดี และ มีความสุข สามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่สังคมได้อย่าง
               ต่อเนื่อง




                                                     (รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์เชิดศักดิ์ ไอรมณีรัตน์)

                                                  ประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
                                                      สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (ภาคพิเศษ)

                                                                                     คู่มือนักศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566

                                            หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (ภาคพิเศษ) หน้า 7
   3   4   5   6   7   8   9   10   11   12   13