วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2565
ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


หลักการและเหตุผล
การวัดและประเมินผลทางการศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศที่จำเป็นในการพิจารณาว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์และมาตรฐานการเรียนรู้ นอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงต่อผู้เรียนแล้วยังสะท้อนถึงประสิทธิภาพการสอนของผู้สอน สะท้อนคุณภาพการการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษาด้วย
สำหรับการวัดและประเมินผลทางการศึกษา จะมีการวัดและประเมินผลในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น วัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา คุณลักษณะทางจิตวิทยา หรือแม้แต่ทักษะการปฏิบัติ ซึ่งการวัดและประเมินผลในแต่ละมิติ ก็จะแตกต่างกันออกไป โดยการวัดและประเมินผลจะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ส่วนสำคัญก็คือ เครื่องมือที่ใช้วัด ซึ่งการออกแบบและโครงสร้างของเครื่องมือที่เหมาะสมจะช่วยให้การวัดและประเมินผลมีประสิทธิภาพสูงสุด
การวัดและประเมินผลด้านทักษะการปฏิบัติ เป็นการวัดที่ท้าทายพอสมควร องค์ประกอบสำคัญคือเครื่องมือและผู้วัดประเมินผล สำหรับการสร้างเครื่องมือการวัดและประเมินผลทักษะการปฏิบัติ มีด้วยการหลายส่วน เริ่มตั้งแต่การตั้งวัตถุประสงค์ของการวัดและประเมินผล การออกแบบโครงสร้างของเครื่องมือ การสร้างเครื่องมือ การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ ไปจนถึงการทำให้ผู้ใช้เครื่องมือมีความเข้าใจและเป็นมาตรฐานเดียวกันก่อนนำไปใช้งานจริง
จากความสำคัญดังกล่าว ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงเห็นสมควรจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “Performance assessment validation” ในวันศุกร์ที่ 9 กันยายน 2565 เพื่อให้ความรู้เรื่องการวิเคราะห์ระบบงานและการกำหนดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการวัดทักษะการปฏิบัติให้แก่อาจารย์และผู้ที่สนใจ ทั้งภายในและภายนอกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้เรื่องธรรมชาติและลักษณะของทักษะการปฏิบัติ
2. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้เรื่องการกำหนดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการวัดทักษะการปฏิบัติ
3. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถออกแบบและสร้างเครื่องมือการวัดทักษะการปฏิบัติเบื้องต้นได้
4. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือประเมินทักษะการปฏิบัติ
5. เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถแปลผลคะแนนการประเมินทักษะการปฏิบัติได้
เนื้อหาโดยสังเขป
เป็นการบรรยายความรู้โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ เกี่ยวกับการวิเคราะห์ระบบงานและการกำหนดพฤติกรรมที่พึงประสงค์ในการวัดทักษะการปฏิบัติ
กิจกรรมในการดำเนินงาน
กิจกรรมบรรยายทางวิชาการและฝึกปฏิบัติ จำนวน 1 วัน โดยวิทยากรเป็นบุคลากรจากภายในและภายนอกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในวันศุกร์ที่ 9 กันยายน 2565 ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้เข้ารับการอบรมเป็นอาจารย์ ทั้งบุคลากรภายในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และภายนอกคณะฯ จำนวน 40 ท่าน


ตารางค่าลงทะเบียน
ณ ห้องประชุมสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ประเภทผู้สมัคร | ราคาล่วงหน้า วันนี้ - 26 ส.ค. 65 | ราคาปกติ 27 ส.ค. - 2 ก.ย. 65 | สมัครหน้างาน |
บุคคลภายนอกคณะฯ ทั่วไป | 1,300 | 1,500 | 1,800 |
บุคคลจากสถาบันที่มีข้อตกลงด้านการศึกษากับคณะฯ | 700 | 1,500 | 1,800 |
อาจารย์และนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ | 700 | 1,500 | 1,800 |
ศิษย์เก่าหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล | 1,000 | 1,500 | 1,800 |
บุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล | ยกเว้นค่าสมัคร | 1,500 | 1,800 |


ตารางค่าลงทะเบียน SHEE Streaming ชมการบรรยายผ่านระบบออนไลน์
ประเภทผู้สมัคร | ราคาล่วงหน้า วันนี้ - 26 ส.ค. 65 | ราคาปกติ 27 ส.ค. - 2 ก.ย. 65 | สมัครหน้างาน |
บุคคลภายนอกคณะฯ ทั่วไป | 800 | 1,000 | 1,200 |
บุคคลจากสถาบันที่มีข้อตกลงด้านการศึกษากับคณะฯ | 400 | 1,000 | 1,200 |
อาจารย์และนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ | 400 | 1,000 | 1,200 |
ศิษย์เก่าหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล | 600 | 1,000 | 1,200 |
บุคลากรของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล | ยกเว้นค่าสมัคร | 1,000 | 1,200 |